ประธานสาขาวิชา

     ผศ.รพีพร ชัยชนะ

Statistics Statistics
10791
Online User Online1
Today Today6
Yesterday Yesterday10
ThisMonth This Month129
LastMonth Last Month156
ThisYear This Year658
LastYear Last Year3,529
 
ประวัติความเป็นมา

สาขานวัตกรรมการเกษตรและการจัดการ

    ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานมากจากเกษตรกรรม โดยมีศักยภาพและความได้เปรียบทั้งทางด้านพื้นที่และฐานการผลิตการเกษตรที่มีความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติ แต่ผลิตภาพการผลิตยังต่ำ โดยอาศัยทรัพยากรมากกว่าองค์ความรู้ มีการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและบริโภคอย่างสิ้นเปลือง เพื่อสนองกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น และมุ่งหวังการสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นหลัก ผลกระทบดังกล่าวได้ทำลายสภาพแวดล้อมทางการเกษตรอย่างสูงเป็นเหตุให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จากผลดังกล่าวประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาในทิศทางที่พึ่งตนเอง ให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศไปสู่การผลิตในแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะต้องมีการบริหารจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบทั้งการพัฒนาหรือสร้างองค์ความรู้ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าและบริการได้โดยตนเองอย่างยั่งยืน

    แม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กำหนดให้มีการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศก็ตาม แต่ด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่กำหนดทิศทางให้มีการปรับเปลี่ยนการเกษตรของประเทศไทยให้เป็นการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี เป็นการทำการเกษตรแม่นยำสูง จัดเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาและพึ่งพาตนเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย จึงเป็นการพัฒนาประเทศด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีภายใต้เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง เพื่อเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ด้วยสภาวการณ์ปัจจุบันและในอนาคตที่มีแนวโน้มของการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงขึ้นและต้องการแรงงานที่มีทักษะที่หลากหลายสามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย บุคลากรด้านการเกษตรที่มีความสามารถหรือทักษะด้านการผลิตผลผลิตทางการเกษตรเพียงด้านเดียวไม่น่าจะเพียงพอในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน บุคลากรด้านการเกษตรควรมีทักษะในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินค้าเกษตรได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์การจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตรทั้งตลาดดิจิทัลและตลาดทั่วไป ตลอดจนการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร เพื่อบูรณการความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ให้ตนเองมีความพร้อมสำหรับการทำงานในตลาดแรงงานได้ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือการเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตนเอง หลักสูตรนวัตกรรมการเกษตรและการจัดการ จึงเป็นหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างบัณฑิตให้มีทักษะด้านต่าง ๆ เหล่านี้อย่างครบถ้วนและสามารถบูรณการศาสตร์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมสำหรับแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ